วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรม


การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรม


การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรม


เป็นอย่างไรบ้าง ผ่านมา 5 ตอนแล้ว ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น พยายามที่จะไม่เน้นทฤษฎี เพื่อผู้ที่ไม่มีพื้นฐานจะได้ไม่เบื่อแต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนนะ ว่าการเขียนครั้งนี้ต้องการให้ความรู้จึงสอดแทรกภาษาอังกฤษเข้ามาบ้างนะครับเพื่อจะได้คุ้นตา และเขียนให้กระชับและตรงประเด็นที่สุดเพื่อจะเอาไปใช้งานจริงเป็นหลัก อยากให้อ่านแล้วเห็นภาพทดลองทำได้จริง ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจหรือไม่ทันตรงไหนย้อนกลับไปอ่านดูกันตามสะดวก หรือถ้าไม่เข้าใจสงสัยอะไรถามเข้ามาได้ที่บล็อคแล้วจะได้ตอบเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นได้รู้ทั่วกัน ในตอนนี้จะพูดถึงขั้นตอนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรม (โดยจะมีบางส่วนจะต้องอ่านส่วนแรกมาก่อนถ้าอย่างนั้นจะไม่รู้เรื่องได้) ซึ่งในครั้งนี้เราจะใช้หลักการของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาอธิบาย โดยจะมีลำดับขั้นตอนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นช่วงๆได้ดังนี้


    • การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Product Creating
    • การต่อยอดทางธุรกิจ Commercialisation  Business 




การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Product Creating

ในช่วงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความคิดมาก เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่โดยผลิตภัณฑ์เหล่านั้นควรจะต้องใช้งานได้ในชีวิตจริง มิใช่แค่สร้างขึ้นมาเพื่อบอกกับใครๆว่า “ฉันสามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาได้เท่านั้น“ แต่เราควรสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม (หรือเพื่อเสริมสร้างรายได้ก็ไม่ว่ากัน) ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรมนั้นก็จะมีลำดับขั้นตอนดังนี้

    • การกำเนิดความคิด Idea Generation
    • การประเมินเลือกสรรความคิดที่เป็นไปได้ Idea Screening
    • การนำความคิดมาทดสอบ Concept Testing

ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีข้อมูลปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งได้ทำการจัดหมวดหมู่ไว้ให้ตามรายละเอียดดังนี้
      • การกำเนิดความคิด Idea Generation
 




เป็นขั้นตอนที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดแนวคิดหรือมุมมองใหม่ๆในการตั้งสมมุติฐาน การตั้งคำถามเพื่อจะหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้ จะได้เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จนนำไปสู่ความเป็นนวัตกรรมได้ ซึ่งที่มาของการตั้งคำถามนั้นอาจจะมาจาก ปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้งาน จากผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จากคู่แข่งของเรา จากพนักงานขาย ฝ่ายวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงมุมมองของผู้บริหารระดับสูง เพราะฉะนั้นถึงได้เน้นว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญ (ย้อนไปดูเรื่องการตั้งคำถามในบทก่อนหน้านี้) หลังจากที่เราได้คำถาม และค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้แล้ว ซึ่งเราก็ควรจะมีการคิดขึ้นมาหรือสร้างสรรค์แนวคิดขึ้นมาให้มากกว่า หนึ่งอย่างหรือควรจะมีให้มากที่สุดเท่าที่จะคิดได้ หลังจากนี้ก็จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป

      • การประเมินเลือกสรรความคิดที่เป็นไปได้ Idea Screening 

การประเมินเลือกสรรความคิดที่เป็นไปได้นั้นจะเป็นขั้นตอนที่จะคัดเลือกความคิดที่คิดขึ้นมาได้ทั้งหมดโดยจะมีหลักในการเลือกสรรของความคิดเบื้องต้นคือ

    • มีความน่าสนใจ
    • มีความแปลกใหม่หรือไม่
    • แนวคิดไปลอกเลียนแบบ หรือซ้ำกับงานของผู้อื่นหรือไม่
    • สามารถแตกความคิด หรือแนวทางการใช้งานได้ีกหรือไม่
    • สามารถระบุผู้ใช้งานที่ชัดเจนหรือไม่

เจ้าพ่อแห่งวงการออกแบบ Dieter Rams (ซึ่งมีผลงานในการออกแบบมากกว่า 500 ชิ้น) ก็ได้กล่าวถึงศาสตร์ของผู้ใช้งาน (User-centered Design) ควรจะมีการออกแบบให้เข้ากับผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆเป็นหลัก และที่น่าสนใจมากคือท่านได้ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่น่าสนใจไว้ว่า “ Good design is as little design as possible”
ดังนั้นในขั้นตอนนี้เราจะตัดความคิดที่ไม่เข้าข่ายของหลักในการเลือกสรรออกให้เหลือเฉพาะที่เป็นไปได้ สามารถทำ หรือสร้างได้จริงก่อน แต่ไม่ใช่ว่าส่วนที่เราตัดไปจะใช้ไม่ได้เลยซะทีเดียวความคิดที่ตัดไปอาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในอนาคตก็เป็นไปได้

      • การนำความคิดมาทดสอบ Concept Testing 


เป็นขั้นตอนในการนำความคิดมาทดสอบ โดยนำความคิดที่ผ่านขบวนการในการคัดเลือกมาทำการทดสอบ
    • มีความเป็นไปได้จริง
    • มีประโยชน์ต่อผู้ใช้จริง
    • ผู้ใช้สามารถจับต้องได้ (มีความสามารถในการซื้อได้จริง)
    • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (เป็นหัวข้อที่จำเป็นมากในปัจจุบัน)
    • สามารถระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่
    • สามารถสร้างขึ้นมาได้จริง (ในช่วงเวลาที่คิดขึ้นมาหรือไม่)

การต่อยอดทางธุรกิจ Commercialisation  Business

การต่อยอดทางธุรกิจ เป็นการนำเอาสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจโดยการขายเป็นหลักไม่ว่าจะขายในเชิงแนวคิด หรือขายเพื่อให้ในได้สิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนหรือสิ่งตอบแทนต่างๆ  ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ที่คิดออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นนวัตกรรม สามารถทำได้ดีในช่วงการสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม แต่มักจะตกม้าตายตอนจบเพราะส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า “ผมขายของไม่เป็น, ดิฉันไม่รู้จักวิธีการขาย หรือไม่มีทุนในการสร้างธุรกิจ” ซึ่งจริงๆตรงนี้ก็ถือว่ายากจริงๆ แต่ก็อย่าได้ท้อ เรามาดูกันว่าเค้ามีขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง เผื่อจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็เป็นไปได้ ขั้นตอนในการต่อยอดทางธุรกิจก็จะมีดังต่อไปนี้ 

    • การวิเคราะห์ทางธุรกิจ Business Analysis
    • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Development
    • การทดสอบทางการตลาด Test Marketing
    • การต่อยอดเชิงพาณิชย์ Commercialisation 
    • การทบทวนความสามารถของตลาด Review of Marketing Performance

ในแต่ละหัวข้อจะมีข้อมูลปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งได้ทำการจัดหมวดหมู่ไว้ให้ตามรายละเอียดดังนี้

การวิเคราะห์ทางธุรกิจ Business Analysis 


ในการวิเคราะห์ทางธุรกิจนั้นเป็นการวิเคราะห์โดยเราจะใช้หลัก SWOT (SWOT คืออะไร ?? “SWOT” มาจากตัวอักษรย่อของคำ 4 คำคือ Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส), Threats (อุปสรรค) SWOT คือ เทคนิคการวิเคราะห์ทางการตลาด) ที่ว่าด้วยเรื่องการเปรียบเทียบของจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคในการทำตลาด, การวิเคราะห์ตำแหน่งในการทำตลาด (STP คือ กลยุทธ์ในการเลือกกลุ่มเป้าหมาย ย่อมาจาก Segmentation การแบ่งส่วนการตลาด, Targeting กลุ่มเป้าหมายที่ได้จากการแบ่งกลุ่ม, และ Positioning การกำหนดตำแหน่งหรือจุดยืนของสินค้าต่อกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด) การวิเคราะห์นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ว่าจะทำวิเคราะห์อะไรก่อนก็ได้ แต่สุดท้ายต้องได้ข้อสรุปว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดขึ้นมาใหม่นั้นสมควรจะออกตลาดหรือไม่ จะต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมอีก (เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในความเป็นจริงส่วนใหญ่จะนำออกตลาดตั้งแต่มีความสมบูรณ์เพียงแค่ร้อยละ 70 ก็ผลิตออกมาก่อนแล้วไม่งั้นจะไม่มีอะไรกิน)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Development 



การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นนี้จะเป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายก่อนผลิตจริงในเชิงอุตสาหกรรม(หรือจะเป็นอุตส่าหากรรมก็ไม่รู้นะ) จะเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานเป็นหลักใหญ่ที่เหลือก็อาจจะเป็นเรื่องขั้นตอนในการผลิต ต้นทุนในการผลิต บรรจุภัณฑ์ การจัดส่ง การวางจำหน่าย ไปจนถึงราคาขายไปถึงผู้ใช้งาน ในขั้นตอนนี้จะมีความยุ่งยากสำหรับนักออกแบบพอสมควร อย่างที่เคยบอก ศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้ในขั้นตอนนี้อย่างจริงจังกันเลย

การทดสอบทางการตลาด Test Marketing 


การทดสอบทางการตลาด เป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขั้นสุดท้ายแล้ว นำไปให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้งานจริง โดยอาจจะมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้ ทำเลที่จะจัดจำหน่าย กลุ่มเป้าหมายที่คาดหวัง ช่วงเวลาในการทำตลาด(สินค้าบางอย่างอาจจะขึ้นกับฤดูกาล) เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆโดยมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจน เพื่อหาจุดเด่น จุดด้อย ในการปรับปรุงก่อนการวางตลาดจริง ในขั้นตอนนี้จะต้องนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนอย่างละเอียด เพื่อให้การวางแผนการตลาดเป็นไปอย่างดี รวมไปถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดต่างๆ


การต่อยอดเชิงพาณิชย์ Commercialisation

การต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นขั้นตอนในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จริง โดยการนำเอา SWOT มาวิเคราะห์ ข้อดี ข้อเสีย หรือจุดอ่อน จุดแข็ง รวมไปถึงโอกาส และอุปสรรค มาพิจารณาปรับปรุงวางแผนการตลาด กลยุทธ์ในการทำตลาด ในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จริง หลังจากนั้นต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ว่าเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่

การทบทวนความสามารถของตลาด Review of Marketing Performance 


การทบทวนความสามารถของตลาด หลังจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้วซักระยะเวลาหนึ่งเราควรจะมีข้อมูลของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ว่าเป็นมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์อย่างไร เราควรจะนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาทำการพิจารณาเพื่อไว้ใช้ในการปรับปรุงในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการในการทำตลาดต่างเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดยอดการจำหน่ายที่ดีขึ้นต่อไป


เป็นอย่างไรบ้างกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นนวัตกรรมค่อนข้างเยอะในรายละเอียดซึ่งพยายามคัดเอาแต่เนื้อๆมาให้อ่านกัน และค่อนข้างอัดแน่นมากเลย ต้องค่อยๆอ่าน ค่อยๆย่อยเอานะ ยังมีอีกเยอะจะทยอยเขียนออกมาเรื่อยๆ ตามสภาพเวลาที่จะอำนวยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่าน ขอให้ประสบผลสำเร็จกันถ้วนทั่ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (การออกสู่เชิงพาณิชย์)

ตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (การออกสู่เชิงพาณิชย์) จากที่เคยบอกไปครับว่าจุดประสงค์ของงานเขียนนี้คือ ต้องการเผยแพร่ความรู้ในการออ...