เครื่องมือในการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม
จากที่ได้แนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรม ในตอนที่แล้วนั้นหวังว่าจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรมในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง ถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจต้องค่อยๆอ่านแล้วทำความเข้าใจ โดยการลงมือทำจริงจึงจะเข้าใจได้ดีขึ้น สำหรับตอนนี้จะเป็นการแนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือนี้ได้มีการนำมาใช้งานจริงในทุกธุรกิจจากการสำรวจและวิเคราะห์จากสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือนวัตกรรมต่างๆ โดยร้อยละ 85 ของธุรกิจทั่วไป จะใช้เครื่องมือนี้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงให้การดำเนินงาน การบริการ หรือผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นจนเป็นนวัตกรรมในแต่ละประเภท เครื่องมือนี้มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “The Five Patterns of Innovation“ ซึ่งในที่นี้เราจะขอเรียกว่า 5 รูปแบบในการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม อย่างที่เคยแจ้งไว้ เราจะเขียนให้กระชับ (เน้นเนื้อไม่เน้นน้ำ และไม่อ้างอิงทฤษฎีมาก) เพื่อให้ผู้ที่สนใจแต่ไม่มีพื้นฐานได้เข้าใจได้ง่าย ก่อนที่จะไปหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมได้ ดังนั้นเราจะมาเริ่มกันเลย
5 รูปแบบในการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม (The Five Patterns of Innovation)
อย่างที่บอกไว้ เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากในทุกวงการ โดยมีการสำรวจ และวิเคราะห์จากสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่มีอยู่ในโลก พบว่าร้อยละ 85 ใช้เครื่องมือนี้ในการพัฒนาเป็นหลัก เรามาดูกันว่ามีอะไรกันบ้าง
- การลดหรือเอาออก Subtraction
- การเพิ่มหรือการเติม Multiplication
- การแยกหรือสลับขั้นตอน Division
- การรวมกัน Unification
- การเชื่อมโยง Relation
การใช้เครื่องมือนี้ สิ่งที่สำคัญ ผู้ออกแบบต้องเข้าใจถึงวิธีการและขบวนการในการเลือกใช้ รวมไปถึงเข้าใจในรายละเอียดของสิ่งที่ต้องการพัฒนาหรือปรับปรุงก่อนที่จะไปออกแบบต่อยอด เพื่อนำมาใช้ในการคิดต่อไม่ถูกออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการให้บริการ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหมายถึง ความลงตัวของด้านต้นทุนทางการเงิน เวลา และปริมาณคน ที่ต้องนำมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะว่าในบางกรณีที่ผู้ออกแบบอาจจะคิดออกมาได้แล้วแต่ลืมนึกในบางปัจจัย จะทำให้เกิดอาการไปไม่ถึงดวงดาวได้ ดังนั้นจะขอเริ่มกันดังนี้
การลดหรือเอาออก Subtraction
การลดหรือเอาออก เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่นิยมใช้มากในเครื่องมือทั้งห้า มักจะนิยมใช้กับขั้นตอนในการผลิตหรือขั้นตอนในการบริการ แต่ก็อาจจะนำไปใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ได้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน โดยเทคนิคหรือวิธีการใช้ จะนิยมนำเอากระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ มาพิจารณาก่อนว่ามีขั้นตอนในการทำงานทั้งหมดอยู่เท่าไหร่ และแจกแจงด้วยว่าแต่ละขั้นตอนมีความสำคัญอย่างไร ใช้ทรัพยากรมากหรือน้อยเท่าไหร่ จากนั้นก็มาพิจารณาว่าจะสามารถตัดขั้นตอนออกไปได้บ้าง ถ้าตัดออกไปแล้วมีผลกระทบอะไรบ้างโดยใช้เครื่องมือ SWOT มาเป็นเครื่องมือในการชั่งน้ำหนักของ ข้อดี-ข้อเสีย มีโอกาส-อุปสรรค อะไรบ้างเพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และหาทางในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อนำไปสู่จุดที่หวัง หรือตั้งใจจะไปได้ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1 Uber อย่างที่เราทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า Uber เป็นธุรกิจที่รองรับการรับ-ส่งผู้โดยสาร จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง โดยมีการชำระค่าบริการผ่านระบบเครดิตการ์ด โดยส่วนใหญ่ผู้โดยสารมักจะเป็นผู้ประสบปัญหาต่างๆ เช่น เนื่องจากผู้โดยสารมักมีปัญหาจากการหารถโดยสารยาก รถโดยสารมักปฏิเสธผู้โดยสาร สถานที่เรียกรถไม่มีรถเข้าไปถึง กำหนดเวลาในการเดินทางไม่ได้ หรือผู้โดยสารไม่สามารถรู้ได้ว่าคนขับรถคือใคร เป็นต้น ส่วนเจ้าของรถหรือคนขับรถ ก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน
Uber คู่แข่งที่สำคัญ รถ Taxi รวมไปถึงรถที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารอื่นๆ
สิ่งที่เจ้าของรถ Taxi ต้องลงทุน
- ขอใบอนุญาตทำรถ Taxi
- ซื้อรถมาทำรถ Taxi
- ซื้อรถมาแล้วต้อง มาทำสี ติดป้าย ติดมิเตอร์
- หาคนมาขับ
สิ่งที่เป็นปัญหาของคนทำรถ Taxi
- คนขับเลือกงาน หรือผู้โดยสาร
- คนขับไม่รับผู้โดยสาร
- ต้องมีค่าบำรุงรักษารถ
- ต้องจัดหาที่สำหรับจอดรถ
- ต้องมีทีมงานคอยจัดการต่างๆ
ข้อดีคือ ได้รับเงินสดทุกวัน
ข้อดีของ Uber ในมุมมองของเจ้าของกิจการ Uber
- ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำรถ Taxi
- ไม่ต้องซื้อรถ ทำสี ติดป้าย ติดมิเตอร์
- ไม่ต้องรับสมัครคนขับรถ
- รองรับตลาดได้ทั่วโลก
สิ่งที่ Uber ต้องลงทุนคือ
- ต้องลงทุนทำระบบ
- ต้องมีทีมงานจัดการในแต่ละเมือง
จะสังเกตว่าในกรณีของ Uber นั้นมีการตัดหลายๆอย่างออกไป ทำให้ต้นทุนต่ำลง มีการจัดการที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่ 2 AirAsia เป็นธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งเกิดจากการมองเห็นช่องว่างของธุรกิจการบริการทางการบิน ซึ่งโดยปกติการเดินทางด้วยเครื่องบินในอดีตมักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง คนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมักจะไม่ค่อยนิยมใช้ หลังจากที่เห็นช่องว่างดังกล่าว ผู้บริหารของสายการบิน AirAsia จึงเกิดไอเดียในการเจาะช่องว่างดังกล่าวขึ้นโดยทำการศึกษาว่า ปัจจัยในการให้บริการทางการบินมีอะไรบ้าง จึงพบว่าปัจจัยในการให้บริการทางการบินหลักๆได้แก่
คู่แข่งที่สำคัญคือ Full Service Airline
ปัจจัยในการตัดสินใจในเลือกใช้บริการการบิน บอกจากราคาแล้วมีปัจจัยอื่นที่สำคัญดังนี้
- บินตรงเวลาหรือไม่ (อัตราการ Delay ต้องต่ำ)
- บริการดีหรือไม่ (ความพอใจในการบริการ ซึ่งเป็นความรู้สึกล้วนๆ) ข้อนี้ขออธิบายหน่อยนะ คือ ต้องเข้าใจก่อนว่าการบริการที่ดีมีความหมายว่า การเอาใจใส่ การพูดจาที่สุภาพ มีมารยาทที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแค่พื้นฐานในการบริการเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การที่พนักงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรงต้องมีความสามารถในการตัดสินใจ การกระทำนอกเหนือคู่มือการปฏิบัติงานมาตรฐานได้(แต่ต้องถูกต้อง) เมื่อลูกค้าร้องขอ เช่น ในเที่ยวบินนั้นมีการเสริฟอาหารเป็นข้าวมันไก่ แต่ลูกค้าร้องขอให้เอาเนื้อน่อง ไม่ใส่ผักโรย ไม่เอาแตงกวาได้หรือไม่ ถ้าพนักงานตอบว่าไม่ได้ ลูกค้าก็จะรู้สึกทันทีว่าบริการไม่ดี หรืออย่างเช่น ร้านกาแฟ Starbucks ถ้าเรากาแฟหก เราจะเห็นพนักงานนำกาแฟแก้วใหม่มาให้เรา หรือทานแล้วไม่ถูกใจ พนักงานก็จะทำให้ใหม่จนถูกใจ จะเห็นว่า ราคากาแฟใน Starbucks ไม่ใช่ถูกแต่พนักงานสามารถตัดสินใจในทันทีเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด ดังนั้น การบริการที่ดี คือความสามารถในการรองรับสถานะการณ์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากคู่มือมาตรฐานได้อย่างดีและรวดเร็วที่สุด
- ที่นั่ง ต้องมีที่นั่งที่สะดวกสบาย นั่งนานๆไม่เมื่อย(มาก)
- อาหารที่อร่อย อันนี้สำคัญเหมือนกันเช่นสมมุติว่าเราจะเดินทางจาก กรุงเทพฯ ไปลอนดอน มีสายการบิน ของแขก กับญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน เราจะเลือกสายการบินไหน(คิดเองนะ)
ดังนั้นเมื่อ AirAsia ได้ทำการวิเคราะห์แล้วพบว่าต้นทุนที่สูงที่สุดคือ
- เครื่องบินเพราะถ้าใช้เครื่องบินที่ลำใหญ่ก็จะมีต้นทุนที่สูง ปริมาณเที่ยวบินต่อวัน ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าลงจอดสนามบิน เป็นต้น
- การบินที่ตรงเวลา
- การลดอาหารที่บริการบนเครื่อง
ซึ่งทำให้สายการบิน AirAsia เลือกที่จะทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำโดย
- ใช้เครื่องบินที่ลำเล็กกว่าสายการบิน Full Service Airline
- มีเที่ยวบินที่มากกว่า แต่รองรับผู้โดยสารที่น้อยกว่า
- เป็นสายการบินระยะใกล้
- ไม่มีอาหารบริการบนเครื่อง(ถ้าต้องการสามารถซื้อได้)
- ค่าบริการที่ต่ำกว่า Full Service Airline มากเพื่อรองรับผู้โดยสารระดับกลางเป็นหลัก
จะเห็นได้ว่าสายการบิน AirAsia จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ก็มีบริการที่สายการบิน Full Service Airline มีให้เพิ่มขึ้นมาบ้างแล้วตามความเหมาะสมซึ่งเราก็จะเห็นกันต่อไป
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าทั้งสองธุรกิจได้ตัดเอาส่วนที่สำคัญของธุรกิจออก แต่ก็ปรับให้รองรับกับกลุ่มลูกค้าอย่างเหมาะสมลงตัว แถมยังสามารถรองรับลูกค้าได้มากขึ้นด้วยการนำเอา รูปแบบธุรกิจไปใช้ในประเทศต่างๆได้อีกด้วย(เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว)
การเพิ่มหรือการเติม Multiplication
การเพิ่มหรือการเติมก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นิยมกันในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ โดยทั่วไปแล้วเรามักเจอกับปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น มีคุณภาพ หรือคุณค่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เราจึงจะใช้เทคนิคในการเพิ่ม หรือเติมเข้าไปให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ หรือคุณสมบัติที่ดีขึ้น เรามาดูตัวอย่างกันเลยครับ
ตัวอย่าง หูฟังที่ไร้เสียงรบกวน หูฟังโดยทั่วไป(โดยเฉพาะที่มีราคาถูก)มักจะฟังไม่ค่อยชัดถ้าอยู่ในที่มีเสียงดัง วิศวกรผู้ออกแบบจึงนำเอาหลักการเพิ่มเข้ามาใช้ โดยนำเอาไมโครโฟนมาติดที่หูฟังแล้วนำเอาสัญญาณที่รับเข้ามาเปลี่ยนขั้วของคลื่นเสียงให้ตรงกันข้ามกับต้นฉบับแล้วส่งเข้าไปรวมกับเสียงที่จะออกมาผลปรากฎว่า เสียงที่เป็นเสียงภายนอกโดยลบออกไปเกือบหมดหรืออาจจะหมดเลย(ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบ และอุปกรณ์ที่ใช้) ทำให้คุณภาพของเสียงที่ดีขึ้น ขายได้ราคาที่แพงขึ้น
ตัวอย่าง โถส้วมประหยัดน้ำ ผลิตภัณฑ์นี้เดิมทีมีปัญหาคือต้องใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมากต่อหนึ่งครั้ง จึงเป็นที่มาของการคิดค้น โถส้วมที่ประหยัดน้ำ โดยวิธีการจะใช้วิธีการเพิ่มท่อเข้าไปในระบบเดิมอีก แต่เปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นหลายขนาดที่ระยะความยาวที่เท่ากัน ทำให้เกิดอัตราการไหลของน้ำที่ต่างกัน ทำให้น้ำมีแรงดันที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยที่ใช้ปริมาณน้ำที่น้อยลง จากตัวอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่าวิศวกรก็ใช้หลักการในการเพิ่มหรือเติมมาใช้ให้เป็นประโยชน์การคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีขึ้น โดยมีแรงดันน้ำที่สูงขึ้นแต่ใช้น้ำที่น้อยลง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นได้อีกด้วย
ตัวอย่าง สายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า ที่มิวนิค ในช่วงที่มีการปรับปรุงสนามบินได้มีโอกาสทำการปรับปรุง เลานจ์ของเฟิร์สคลาส โดยการนำเอาจุดออกบัตรที่นั่ง การโหลดกระเป๋า และมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรวมเข้าไว้ในที่เดียวกัน และอยู่ในเลานจ์นั้นด้วยกัน นอกจากนั้นเมื่อถึงเวลาก็จะมีรถ Super Car มาจอดรอรับไปส่งที่เครื่องบิน โดยได้รับการสนับสนุนจาก เมอร์เซเดส เบนซ์ และพอร์ช นำรถมาให้บริการพร้อมคนขับ และเมื่อขากลับเข้ามาก็จะมีรถ Super Car มารับจากเครื่องบินกลับไปที่เลาจ์เพื่อให้ผู้โดยสารได้พักผ่อนและสัมผัสกับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมของสายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า และผู้โดยสารยังได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ใหม่เช่นรถยนต์ของค่ายดัง ซึ่งผู้โดยสารระดับเฟิร์สคลาสเราไม่สามารถเข้าถึงตัวกันได้ง่ายๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีมากที่ได้เข้าถึงตัวลูกค้าระดับนี้ได้
จะเห็นว่าเทคนิคการเพิ่มหรือเติม สามารถนำไปใช้ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการบริการ ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบมีวิสัยทัศน์อย่างไร หรือมีโจทย์อย่างไร
การแยกหรือสลับขั้นตอน Division
การแยกหรือสลับขั้นตอนเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กับการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยที่ใช้ทรัพยากรเท่าเดิม หรือต้องใช้น้อยลง ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องไม่ทำให้ผู้ทำงาน หรือผู้ที่รับงานไปทำมีความรู้สึกว่าถูกเพิ่มงาน โดยวิธีนี้จะใกล้เคียงกับวิธีการลดหรือตัดออก โดยจะต้องนำเอากระบวนการ หรือขั้นตอนการทำงานมาเรียงกันตามลำดับดูก่อนและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นจึงทดลองสลับขั้นตอนการทำงาน ก่อนหรือหลังในเชิงแนวคิด แล้วลองให้ผู้ทำงานวิจารณ์ดูว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง จากนั้นทดลองทำจริงเพื่อดูผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ แล้วค่อยปรับปรุงอีกนิดหน่อยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเหมาะสมยิ่งขึ้น มาดูตัวอย่างในการสลับหรือแยกขั้นตอนกันดีกว่า
ตัวอย่าง โรงงาน P&G ต้องใช้หลอดเพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นครีม จึงต้องสั่งจากโรงงานทำหลอด ซึ่งปกติ โรงงานทำหลอดจะผลิตหลอดและส่งไปพร้อมฝาไปให้ P&G ซึ่งต้องมีการระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าขนส่งไม่ดีจะทำให้หลอดที่ส่งไปเสียหายได้ง่าย วิธีการแก้ปัญหานี้ ทางโรงงานผลิตหลอดจึงขอย้ายเครื่องผลิตหลอดไปไว้ที่โรงงงาน P&G โดยใช้ที่เพียงเล็กน้อย แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึงร้อยละ 70 แต่ผู้อ่านอาจจะคิดว่าแล้วโรงงาน P&G จะยอมให้มาตั้งได้อย่างไร ทางโรงงานผลิตหลอดก็ให้ข้อเสนอโดยจะลดราคาค่าหลอดให้ จ่ายค่าเช่าที่สำหรับการติดตั้งเครื่องผลิตหลอดที่โรงงาน P&G และสินค้าที่ส่งให้ก็มีคุณภาพที่สูงขึ้นอัตราของเสียต่ำลงมาก(ถามว่าถ้าท่านเป็นผู้บริหาร P&G ท่านจะยอมหรือไม่ครับ)
ตัวอย่าง ขนมปังในกระป๋อง ปกติขนมปังในกระป๋องเรามักจะเห็นแต่ขนมปังอบกรอบใช่มั้ยครับ แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเค้าคิดเอาขนมปังแบบนิ่มๆ มาใส่กระป๋องครับ(มีบางคนอาจสงสัยว่าทำได้อย่างไร เพราะปกติแค่ไม่กี่วันก็ราขึ้นหมดแล้ว) ซึ่งวิธีการคือปกติทั่วไป เมื่อได้แป้งขนมปังที่พร้อมจะอบ เราก็จะอบขนมปังก่อนแล้วจึงบรรจุลงในกระป๋อง ซึ่งผู้ผลิตได้เปลี่ยนวิธีการทำ โดยสลับขั้นตอนใหม่จากแป้งที่พร้อมจะอบนำใส่กระป๋องก่อนแล้วนำไปอบทั้งกระป๋อง ผลที่ได้ก็คือขนมปังก็จะพองอยู่ในกระป๋องและยังสามารถอยู่ได้นานถึง 3 ปีอีกด้วยแต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนที่ว่ามานะครับ ผู้ผลิตก็ได้มีการลองผิดลองถูกกันมาพอสมควรกว่าจะทำออกมาได้สำเร็จ
จะเห็นว่าวิธีการแยก หรือสลับขั้นตอนนั้นส่วนสำคัญ ผู้คิดต้องมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำพอสมควร ถ้าไม่เช่นนั้นก็ยากพอสมควรนะครับกว่าจะได้ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือขั้นตอนที่เป็นนวัตกรรมได้
การรวมกัน Unification
การรวมกัน เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับ ผลิตภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะใช้หลักการทำงานหรือของที่มีอยู่เดิมมาสร้างเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดที่ทำขึ้นมาใหม่มักจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นความแปลกใหม่ที่ผู้ใช้อยากได้ แต่นึกไม่ออกว่าจะบอกว่าอย่างไร อาจจะอ่านแล้วก็ยังนึกภาพไม่ค่อยออก เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า
ตัวอย่าง ไฟหน้าของรถยนต์ เวลาเราขับรถอยู่ในทางโค้ง หรือทางเลี้ยวในเวลากลางคืน เรามักจะมองไม่ค่อยเห็นบริเวณด้านข้างและด้านหน้าของทางเลี้ยว วิศวกรจึงเกิดความคิดที่จะให้ไฟหน้าเอียงตามมุมที่รถหรือพวงมาลัยเลี้ยวไปด้วย ซึ่งก็เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมเพียงแต่ปรับแต่งให้เกิดการหมุนตามการเลี้ยวของรถหรือตามพวงมาลัยรถ ซึ่งก็ทำให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
ตัวอย่าง น้ำหอม CK One เป็นน้ำหอมที่แยกสำหรับผู้ชาย และผู้หญิง แต่ที่จริงแล้วน้ำหอมหลักก็มาจากต้นตำรับเดียวกันเพียงแต่ใช้กลไกล หรือเทคนิคการตลาดเพื่อใช้แยกประเภทของผู้ชายผู้หญิงออกจากกัน ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงดูเหมือนว่ามีความใหม่และแตกต่างกันได้
จะเห็นได้ว่าการใช้เทคนิคการรวมกัน เป็นวิธีการที่ค่อนข้างลงตัวและแยบยลมาก ผู้ที่คิดต้องค่อยคิดและมองอย่างละเอียด จนพบจุดที่เรียกว่า Unmet need ของลูกค้าได้จึงค่อยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือการบริการใหม่ได้ตรงจุดของลูกค้า
การเชื่อมโยง Relation
การเชื่อมโยง เป็นเครื่องมืออันสุดท้ายที่นิยมใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือบริการให้เกิดเป็นนวัตกรรม ส่วนใหญ่มักนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ วิธีการมักจะนำเอาของสองสิ่ง หรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกันมารวมกันเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งเราจะขออธิบายด้วยตัวอย่างน่าจะเข้าใจมากกว่า เรามาดูกันครับ
ตัวอย่าง แว่นตาที่ปรับสีได้ตามแสง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เกิดจากปัญหาว่าผู้ที่สวมแว่นตาอยู่แล้วเวลาออกไปอยู่กลางแจ้ง จะรู้สึกไม่สบายตาต้องพกแว่นอีกหนึ่งอันเพื่อใช้ใส่กันแดด ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกในการพกแว่นหลายอัน จึงเกิดความคิดที่จะใช้หลักการของความเข้มแสงมาทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารที่เคลือบบนผิวกระจกแว่นตาทำให้เกิดการปรับสีให้เข้มขึ้นเพื่อลดแสงที่จะเข้าตาให้ความเข้มแสงอ่อนลง เกิดความสบายตาเหมือนใส่แว่นกันแดด
ตัวอย่าง ร้านอาหารที่ขายของมึนเมา ที่มีช่วงเวลาในการขายที่เรียกว่า Happy Hours เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย เช่น มีการกำหนดช่วงเวลา Happy Hours ในเวลา 16.00-19.00 น. ซึ่งทำให้นักดื่มที่มีเวลา(หรืออาจจะหนีงานไปกิน) สนใจที่จะไปกินก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนักดื่มส่วนใหญ่พอได้ดื่มแล้วทำให้รู้สึกติดลม ดังนั้นพอเลยเวลาแล้วถึงแม้ราคาแพงก็ไม่สนแล้วจึงทำให้เกิดยอดขายที่สูงขึ้นได้
ตัวอย่าง โปรโมชั่นมือถือต่างๆ ที่มักจะมีการระบุเวลาในการใช้งานกับราคาที่ได้ ซึ่งก็เป็นการสร้างยอดขาย โดยใช้วิธีเชื่อมโยงกันระหว่างเวลากับค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้บริการได้อีกเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าในชีวิตเราก็มักจะพบกับ เทคนิคการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคิดว่าหลังจากได้อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าน่าจะมีความคิดใหม่ๆกับตัวผู้อ่านเองได้นะครับ
ตอนนี้ต้องบอกว่ายากมากครับเพราะต้องหาข้อมูลเยอะมาก ทำการบ้านตลอด แต่ต้องการให้ผู้อ่านได้รับความรู้และเกิดความกระจ่างมากขึ้นจะได้รู้ว่าผู้ที่คิดสิ่งใหม่ๆ เค้าคิดกันอย่างไร แต่ก็ต้องบอกก่อนนะครับ ว่าที่เขียนขึ้นมานี้เป็นเพียงผิวๆของนักคิด ในรายระเอียดในการคิดนั้นยังมีอีกมากครับถ้าจะให้เอามาเขียนต้องเป็นเล่มเลยเดี๋ยวจะเบื่อที่จะอ่านกันก่อน หรือเรียนกันเป็นปีเลยครับ ในตัวอย่างบางเรื่องก็ไม่ลงในรายละเอียดมากนักเพราะเกรงใจผู้รู้หรือผู้ที่อยู่ในวงการ อย่างเคยถ้าใครมีคำถามหรือสงสัยก็ถามมาได้ครับ