การกำเนิดหรือการสร้างความคิด ในการออกแบบ(ต่อ)
การสร้างสรรค์ด้วยศิลป์
จากครั้งที่แล้วคุยกันในเรื่องของการกำเนิดหรือการสร้างสรรค์ความคิด จนสามารถสร้างให้เกิดเป็นนวัตกรรมต่างๆได้ และอย่างที่เราเคยรู้ว่าสิ่งของทุกอย่างในโลกเกิดจาก ศาสตร์และศิลป์ ซึ่งได้รวมตัวกันจนเกิดเป็นชิ้นงานต่างๆ ซึ่งได้กล่าวถึงศาสตร์กันไปแล้ว ก็ได้รับเสียงสะท้อนมาจากหลายๆท่านที่บอกกล่าวกันมา ให้ช่วยแนะนำตัวอย่างให้ดูกันหน่อยว่ามีวิธีการอย่างไร ดังนั้นจะค่อยๆ นำมาแนะนำให้รู้จักกัน คอยติดตามกันต่อไป ทีนี้เราจะมาเริ่มต่อในเรื่องของศิลป์หรือศิลปะ(ในที่นี้ของใช้คำว่าศิลป์) ซึ่งในส่วนของศิลป์นั้นส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ ความชอบ ความอยาก และความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ที่มีศิลปะอยู่ในหัวใจมักจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน เป็นคนช่างสังเกตุ ช่างจดช่างจำ ถ้าคนที่ไม่มีความเป็นศิลปะเลยก็ไม่ใช่ว่าจะเรียนกันไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้น สถาบันสอนศิลปะทั้งหลายคงจะปิดกันหมดแล้ว และการเรียนศิลปะให้ดีก็น่าจะเรียนกันตั้งแต่เด็กๆ เช่นการเรียนวาดรูป ดนตรี การร่ายรำ การเต้น เป็นต้น ก็จะช่วยให้เกิดการปลูกฝังความรู้ ความสามารถในแต่ละบุคคลได้ตั้งแต่ยังเด็กให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีความละเอียดอ่อนในอารมณ์ ทำให้มีพื้นฐานในการคิดจนสามารถดัดแปลงหรือสร้างสรรค์งานต่างๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งในเรื่องของศิลป์ หรือศิลปะ แล้วแต่จะเรียกใช้กัน ก็มีที่มา จากสัมผัสทั้งห้า ซึ่งที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่
สัมผัสทั้งห้า (The Five Senses)
- รูป (Sight)
- รส (Taste)
- กลิ่น (Smell)
- เสียง (Hearing)
- สัมผัส (Touch)
ทีนี้เราจะมาดูกันว่าแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดอะไรกันบ้าง เริ่มกันเลยนะ
รูป (Sight)
รูป ในที่นี้เราจะหมายถึง รูปร่าง, รูปลักษณะ, รูปทรง, การใช้สีสัน, ความใกล้-ไกลที่ตาสามารถมองเห็นได้ ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งมาก ซึ่งในทางศิลปะจะมีการตีความได้มากมาย ซึ่งเราจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดนะ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นวิชาสอนศิลปะกันไปเลย จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันเช่น ถ้าจะต้องออกแบบ โทรศัพท์มือถือซักเครื่อง คิดว่าผู้ใช้หรือเราเองก็ตาม ถ้าออกแบบโทรศัพท์รูปทรงสี่เหลี่ยมๆ มีสีขาวหรือดำอย่างเดียว ไร้ซึ่งความโค้ง ความมนของเหลี่ยมมุม และมีสีสันที่สดใสน่าใช้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากได้(แต่อาจจะมีบางคนบอกว่าฉันอยากได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามนะ) ดังนั้นจึงมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่จะเกิดตามขึ้นมาด้วยเพื่อ ค้ำคอผู้ออกแบบว่า จะต้องทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้อยากได้ หรืออยากนำไปใช้งาน ซึ่งบางครั้ง หรือหลายๆครั้งก็จะไปขัดใจผู้ออกแบบทางด้านเทคนิคอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วไป โดยทั่วไปก็จะมีลักษณะดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ซึ่งในบางกรณีอาจจะมีการฉีกแนวไปมากกว่านี้ได้อีกในอนาคตซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการออกแบบ และความต้องการของผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นหลัก มีดังนี้
- รูปลักษณ์
- สีสัน
- แสง มืด สว่าง
- ขนาด
รส (Taste)
รส ในที่นี้หมายถึง รสชาติ ที่เราสามารถรับรู้ได้จากการชิม ซึ่งจะมีอวัยวะในการรับรู้คือลิ้นของคนเรานั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นอีกแขนงหนึ่งของศิลปะ เช่นในการปรุงอาหารนั้น นอกจาก รูปลักษณ์หน้าตาของอาหารในแต่ละจานจะมีความสำคัญแล้วที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ รสชาติของอาหารต้องมีความอร่อย รสชาติควรจะกลมกล่อม เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละจานของอาหารจานนั้นๆ เพราะถ้ามีรสชาติใดที่มีความเกินพอดีก็จะกลายเป็นไม่อร่อยทันที ซึ่งในแต่ละจานนั้นผู้คิดจะต้องมีความตั้งใจ หรือความคาดหวัง ที่แตกต่างกัน ซึ่งในแง่มุมของรสชาติในการออกแบบ อาจมีส่วนผสมของรสชาติต่างๆอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งรสชาติมาตราฐานที่เรารู้จักกันได้แก่
- จืด
- ขม
- เค็ม
- เปรี้ยว
- หวาน
- มัน
- เผ็ด
- ร้อน
- เย็น
กลิ่น (Smell)
กลิ่น ในที่นี้เราจะหมายถึง กลิ่นต่างๆที่เราสามารถรับรู้ได้จากการดมกลิ่น ซึ่งจะใช้อวัยวะในการดมคือจมูกของเรา(ผู้อ่านอาจจะคิดว่าถ้าไม่เอาจมูกดม แล้วจะใช้อะไรดม) นี่ก็เป็นอีกแขนงของศิลปะนะครับ เช่นผู้ที่คิดสูตรปรุงน้ำหอมต่างๆ ก็จะต้องมีการออกแบบเหมือนกันนะครับว่าควรจะมีกลิ่นของน้ำหอมอย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน หรือพ่อครัวที่จะต้องคิดอาหารจานใหม่ก็จะคิดเหมือกันว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไร รสชาติแบบไหนและควรจะมีกลิ่นอย่างไร ในแง่ของกลิ่นนั้นก็จะมีมาตราฐานเบื้องต้น ในการเริ่มต้นคิดได้แก่
- กลิ่นหอม
- กลิ่นฉุน
- กลิ่นเหม็น
- กลิ่นอับ
- กลิ่นสดชื่น
เสียง (Hearing)
เสียง ในที่นี้เราจะหมายถึง เสียงต่างๆที่เราสามารถรับรู้ได้จาก อวัยวะที่ใช้ในการฟังคือหูของเรา อันนี้ก็เป็นอีกแขนงหนึ่งซึ่งบางคนอาจจะบอกว่ามีความละเอียดอ่อนมาก เช่นผู้ที่ชื่นชอบในการฟังเพลง มักจะค้นหาเครื่องเสียงที่มีคุณภาพที่ดี ตามแต่ฐานะอันพึงมีพึงได้ มาฟังกัน ซึ่งผู้ออกแบบเครื่องเสียงแต่ละระดับก็มักจะออกมาโฆษณาคุณสมบัติ หรือคุณภาพของเครื่องเสียงของตัวเองว่าดีอย่างไร(เช่น เสียงดีจนกระทั่งได้ยินแม้กระทั่งเข็มตกพื้น เสียงหายใจของนักร้อง เสียงเป็นธรรมชาติเหมือนมีวงดนตรีมาเล่นอยู่ข้างหน้า เป็นต้น) ในการออกแบบด้านเสียงนั้นก็จะมีมาตราฐานเบื้องต้นในการออกแบบเช่นกัน แต่มาตราฐานในการออกแบบด้านเสียงทั่วไป ได้แก่
- ความดังของเสียง(ความดัง หรือความเงียบ)
- คุณภาพของเสียง(ความสมจริงของเสียง)
สัมผัส (Touch)
สัมผัส ในที่นี้เราจะหมายถึง สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสทางกาย โดยผ่านอวัยวะการรับรู้ด้วยมือ และร่างกายของเรา การสัมผัสด้วยมือหรือร่างกายนั้น ก็จะเป็นอีกศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนไม่แพ้สัมผัสอื่นที่ผ่านมา เช่นผู้ที่ออกแบบเสื้อผ้านั้นก็คำนึงถึงสัมผัสของเนื้อผ้าว่าอยากให้มีลักษณะเช่นไร เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกอ่อนนุ่มมีความสบาย สามารถถ่ายเทอากาศได้ดีไม่ร้อน หรือไม่หนาวจนเกินไป หรือในการออกแบบเก้าอี้สำหรับนั่งทำงาน ก็มีวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกับเก้าอี้ที่ใช้สำหรับพักผ่อน เพราะฉะนั้นก็จะคำนึงถึง สัมผัสที่ผู้ใช้รับรู้ได้ที่ไม่เหมือนกัน ในการออกแบบด้านสัมผัสนั้นก็จะมีมาตราฐานเบื้องต้นในการออกแบบได้แก่
- อ่อน แข็ง
- นิ่มนวล ขรุขระ
- เปียก ชื้น แห้ง
- ร้อน เย็น
- รู้สึกสบาย หรือไม่สบาย
นอกจาก สัมผัสทั้งห้า ที่เป็นต้นกำเนิดเบื้องต้นในการออกแบบแห่งศิลป์นั้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นส่วนเพิ่มเติมอีก ที่สามารถนำมาช่วยเป็นแหล่งเสริมในการกำเนิดความคิดทางด้านศิลปะซึ่งในที่นี้จะขอเสนอให้ได้รับทราบกัน ได้แก่
- แรงบันดาลใจ (Inspiration)
- ความรักและความหลงไหล (Love & Fascination)
- ประสบการณ์ (Experience)
ซึ่งในแต่ละหัวข้อดังกล่าว ก็จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แรงบันดาลใจ (Inspiration)
แรงบันดาลใจ ในที่นี้เราจะหมายถึง แรงที่ผลักดันให้เราทำในสิ่งนั้นๆ ที่เราคิดขึ้นมาได้โดยตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม ซึ่งเกิดจากอารมณ์ เป็นแรงผลักดันำให้เรามีอารมณ์อยากคิด หรือเกิดอารมณ์ที่อยากจะทำให้สำเร็จด้วย ซึ่งในแต่ละบุคคลก็จะมีความอยากที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นหลัก ต่อไปก็คือสิ่งเร้าต่างๆ ตัวอย่างเช่น เกิดปัญหาขึ้นบางอย่างกับคนที่รัก และอยากแก้ปัญหานั้นๆให้สำเร็จ หรือเพื่อลดหรือแก้ปัญหานั้นให้ได้ ก็จะเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาได้ หรือทำงานอยู่ตรงนั้นทุกวัน และทำการลองผิดลองถูกกับปัญหานั้นๆจนเจอทางแก้ที่เหมาะสมกับงานที่ตัวเองทำ นั่นก็เกิดจากแรงบันดาลใจได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจโดยทั่วไปได้แก่
- อารมณ์ในขณะนั้น
- ปัญหาที่พบ
- การทำซ้ำๆ จนเจอทางออก
- แรงผลักดัน
ความรักและความหลงไหล (Love & Fascination)
ความรักและความหลงไหล ในที่นี้เราจะหมายถึง ความชอบ ความสนใจ ในบางสิ่งหรือบางเรื่องอย่างจริงจัง สนใจ และตั้งใจฝักใฝ่ กับเรื่องนั้นๆ จนมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนั้นๆจนเกิดเป็นทักษะมีความรู้ลึก รู้กว้าง และรู้จริง ในเรื่องนั้นๆ แบบว่าถามอะไรมาตอบได้ทุกเรื่องเป็นพวกแฟนพันธุ์แท้กันเลยทีเดียว พวกนี้ก็มักจะเกิดมาจากอารมณ์มาก่อนเหตุผล (ประเภทเดียวกับศิลปิน) แต่เป็นในแง่บวกนะ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์ความเร็วสูง จนสามารถออกแบบรถที่เป็นในแบบจินตนาการของตัวเองได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความรักและความหลงไหลนั้นโดยทั่วไปได้แก่
- ความชอบ
- ความใฝ่รู้ ชอบศึกษา
- มีจินตนาการในสิ่งที่ชอบ
ประสบการณ์ (Experience)
ประสบการณ์ ในที่นี้เราจะหมายถึง ความสามารถที่ได้มาจากประสบการณ์จนสามารถคิดต่อยอดความรู้ของตัวเองได้ จนสามารถสร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์ บริการ หรือกระบวนการใหม่ๆได้ โดยได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นๆ ซึ่งคนกลุ่มที่มีประสบการณ์นี้จะมีความสามารถในการพัฒนาเพื่อให้สร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดประสบการณ์นั้นโดยทั่วไปได้แก่
- การพบปัญหาบ่อยๆ เจอปัญหาใหม่ๆอยู่เสมอ
- เมื่อพบปัญหาแล้วสามารถแก้ปัญหาได้
- มีความละเอียดรอบครอบในการวิเคราะห์ปัญหา
- มีความใจเย็น
- มองปัญหาในแง่บวก (ทุกปัญหามีทางแก้ ไม่ใช่ทุกทางแก้คือปัญหา)
จะเห็นได้ว่าจากที่กล่าวมานั้นจะมีปัจจัยหลากหลายมาก และในการออกแบบนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องนำทุกหัวข้อมาใช้นะครับ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เราพบ กับพื้นฐานความรู้ ความสามารถในตัวเราหรือผู้ออกแบบ ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนด้วยต้องค่อยๆฝึก ค่อยๆทำ ก็จะค่อบๆชำนาญ จนกลายเป็นเชี่ยวชาญได้ครับ ทีนี้เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า ตัวอย่างที่จะนำมาให้เป็นตัวอย่างนี้มาจากพัดลมชื่อดังจากฝั่งอเมริกา
ตัวอย่างการออกแบบ พัดลม Dyson
เกิดจากปัญหาว่าเด็กมักชอบเอานิ้วเข้าไปแหย่ในพัดลม ทำให้เกิดอันตราแก่เด็กได้ง่าย จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรให้พัดลมมีความปลอดภัย ถ้าต้องการให้มีแรงลมที่ดีกว่าเดิม รูปทรงสวยงาม น่าใช้ ประหยัดไฟ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม
- ในทางศาสตร์ ก็คือทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล อิเลคทรอนิคส์ จึงเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดย คิดแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไร โดย
วิศวกรไฟฟ้า ดูแลเรื่องตำแหน่งของใบพัดและมอเตอร์ เนื่องจากใบพัดของพัดลมเป็นแหล่งกำเนิดของลม จะตัดออกไปก็ทำไม่ได้จึงต้องใช้วิธีย้ายจุดของใบพัดลงไปไว้ในตำแหน่งข้างล่าง และออกแบบมอเตอร์ใหม่ให้มีขนาดเล็กลงมีความเร็วรอบที่สูงขึ้นแต่ต้องประหยัดกว่าเดิม และต้องมีเสียงเบาที่สุด
วิศวกรเครื่องกล ทำหน้าที่ออกแบบใบพัดใหม่ เลือกวัสดุที่จะนำมาใช้ ให้สามารถกำเนิดแรงลมให้ดียิ่งขึ้นในขนาดที่เล็กลงจากเดิม มีน้ำหนักเบา จากนั้นออกแบบทางทางการไหลของลมใหม่ และต้องมีเสียงเบาที่สุด
วิศวกรอิเลคทรอนิคส์ ทำหน้าที่ออกแบบความคุมการทำงานของพัดลม เคลื่อนย้ายง่าย ควบคุมง่าย
- ในทางศิลป์นั้น วิศวกรต้องรับหน้าที่ออกแบบทางศิลป์ร่วมกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของพัดลมโดยตรง ที่เหลือเป็นหน้าที่ของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ในเรื่องของสัมผัสทั้งห้าเช่น
รูปทรง ต้องดูสวย มีสีสัน น่าใช้ อาจเพิ่มโคมไฟเข้าไปด้วยเพื่อความสวยงาม
รสชาติ ในกรณีนี้ไม่ต้องใช้กับพัดลม
กลิ่น ในกรณีนี้ไม่ต้องใช้กับพัดลม (อาจเพิ่มกลิ่นเข้าไปได้ในอนาคต)
เสียง ต้องทำให้ไม่เกิดเสียง หรือเกิดเสียงเบาหรือน้อยที่สุด (อาจเพิ่มเสียงเข้าไปได้ในอนาคต)
สัมผัส ต้องมีความเย็น หรือลมที่แรงกว่าเดิม
ในปัจจัยส่วนเสริม
- แรงบันดาลใจ (Inspiration) หลังจากที่มองเห็นปัญหา ที่เป็นช่องทางในการพัฒนาและผู้ผลิตมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เอง และสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร
- ความรักและความหลงไหล (Love & Fascination) เกิดจากการมีจินตนาการ และมีความชอบในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
- ประสบการณ์ (Experience) เนื่องจากผู้ผลิตเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายที่คิดสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายและเร็วกว่าคนอื่น
จากการนำเสนอที่ผ่านมานี้ หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความรู้ และประโยชน์กันไปบ้างไม่มากก็น้อย หากมีส่วนใดที่สงสัย หรือที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกใจ ช่วยกันติชมมาด้วยนะครับ ในตอนถัดไปเราจะมาคุยกันในส่วนของขั้นตอนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ว่าเราจะมีขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง