ตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (การออกสู่เชิงพาณิชย์)
จากที่เคยบอกไปครับว่าจุดประสงค์ของงานเขียนนี้คือ ต้องการเผยแพร่ความรู้ในการออกแบบนวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์ การบริการจนไปถึงขบวนการในการผลิตให้คนไทยทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มนักออกแบบได้เข้าใจ เพื่อให้สามารถเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก เพื่อให้คนไทยเราแข่งขันกับตลาดโลกได้ เมื่อเร็วๆนี้ผมได้ไปเห็นผลไม้หลายๆอย่างในตลาดคนไทย หรือตลาดของคนเอเชีย (ตอนนี้ผมพักอยู่ที่ Los Angles USA) เห็นผลไม้ เช่น เงาะ ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะม่วง เป็นต้น ก็ดีใจว่าที่นี่ดีนะมีผลไม้ไทยขายด้วย แต่พอไปดูใกล้ๆแล้ว แทบสลบครับ คือผลไม้เหล่านั้นมาจากอเมริกาใต้ทั้งหมด ซึ่งคุณภาพใกล้เคียงกับของบ้านเราเลยทีเดียว แต่ไม่ได้มีของที่มาจากเมืองไทยแม้แต่อย่างเดียว ยิ่งทำให้รู้สึกกลัวแทนคนไทยว่าในอนาคตถ้าเรายังไม่รู้จักการทำตลาดอย่างถูกต้องอย่างเพียงพอ หรือมัวแต่ทะเลาะกันไม่สามัคคีกัน เราอาจจะไม่มีที่ยืนในอนาคตให้แก่ลูกหลานของเรา จึงเป็นความฝันเล็กๆของผมที่พอจะมีความรู้บ้าง อยากเป็นแรงเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของคนไทยเกิดการเดินหน้าไปแข่งกับตลาดโลกให้ได้
จากตอนที่แล้ว ได้นำเสนอโดยเอาตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของเด็กชาวสิงคโปร์มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้แรงบันดาลใจ จากความสงสารญาติผู้ใหญ่ที่ต้องเกิดบาดแผลจากการทำอาหาร ทำให้เกิดความต้องการจะทำผลิตภัณฑ์ จนสามารถสร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่เรายังไม่ได้ยกตัวอย่างการต่อยอดจนสู่การออกสู่เชิงพาณิชย์ ในตอนนี้เราจะมาดูต่อว่า จะทำอย่างไรกันต่อไปถ้าจะต่อยอดออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยตอนนี้ขอนำเสนอตามขั้นตอนที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้นะครับ บางคนอาจจะมองว่านี่มันเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ถ้าเราเข้าใจในพื้นฐานการต่อยอดแล้วเราก็จะมองเห็นภาพการมานำมาประยุกต์ได้ไม่ยาก
จากคราวที่แล้วถึงขั้นตอนที่สามารถผลิตได้จริงแล้ว จากนั้นเราจะมาดูต่อในการนำความคิดมาทดสอบ โดยนำความคิด(ในที่นี้เป็นผลิตภัณฑ์จริงได้แล้ว) ที่ผ่านขบวนการในการคัดเลือกมาทำการทดสอบโดยโจทย์ดังต่อไปนี้
มีความเป็นไปได้จริง ซึ่งงานนี้ทำออกมาได้จริง
มีประโยชน์ต่อผู้ใช้จริง ชิ้นงานเหล่านี้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้จริง
ผู้ใช้สามารถจับต้องได้ (มีความสามารถในการซื้อได้จริง) เราจะต้องมากำหนดราคาที่จะขาย
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (เป็นหัวข้อที่จำเป็นมากในปัจจุบัน) ต้องมาหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สามารถระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ ต้องกำหนดคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และดีกว่าของที่มีอยู่หรือไม่
สามารถสร้างขึ้นมาได้จริง (ในช่วงเวลาที่คิดขึ้นมาหรือไม่) กำหนดขบวนการผลิตได้
ต่อไป เราจะมาตอบโจทย์ในแต่ละข้อกันนะครับ
มีความเป็นไปได้จริง ซึ่งงานนี้ทำออกมาได้จริง
เพราะหลังจากที่ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาได้แล้ว โดยมีชิ้นงานของผลิตภัณฑ์จริง แล้วมีการนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด แล้วค้นหาจุดบกพร่องเพื่อทำการปรับปรุงจุดบกพร่องที่พบเห็นในเบื้องต้น และค้นหาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ว่าเป็นไปตามที่กำหนด ขาดหรือตกคุณสมบัติตามที่ต้องการหรือไม่ หรือมีจุดใดที่เพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ และต้องมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปหาให้เจอมากที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องค้นหาวัสดุที่เหมาะสมและควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างคุณค่าและอาจจะเลยไปถึงความสวยงานต่อผลิตภัณฑ์ เช่นอาจจะใช้วัสดุจากไม้ไผ่ซึ่งสามารถได้จากชุมชนใกล้เคียง หรือวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้จากภายในประเทศเพื่อเป็นการกระจายรายได้(ถ้าทำได้) จากนั้นก็จะเป็นการทบทวนในขั้นตอนการผลิตว่าสามารถผลิตได้จริงหรือไม่ในแง่การผลิตเป็นอุตสาหกรรม เช่น ขบวนการผลิตจะเริ่มจากอะไร วัตถุดิบต่างๆ จะหาจากที่ใด ต้องใช้เครื่องมืออะไรในการผลิต ต้องใช้จำนวนคนเท่าไหร่ ใช้เวลาในการผลิตเท่าใด บรรจุภัณฑ์ควรจะเป็นอย่างไร มีต้นทุนในการผลิตเท่าไหร่ ซึ่งทุกอย่างที่บอกมาให้ใช้การประมาณการก่อนนะครับ เพื่อจะหาต้นทุนผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรจะตั้งราคาขายที่เท่าไหร่ ก่อนที่จะไปถึงขบวนการนำสินค้าออกสู่เชิงพาณิชย์
เมื่อสามารถตอบโจทย์ต่างๆได้แล้ว เราจะมาเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการนำสินค้าออกสู่เชิงพาณิชย์โดยจะเริ่มจาก
การวิเคราะห์ทางธุรกิจ Business Analysis
ในการวิเคราะห์ทางธุรกิจนั้นเป็นการวิเคราะห์โดยเราจะใช้หลัก
SWOT (SWOT คืออะไร ?? “SWOT” มาจากตัวอักษรย่อของคำ 4 คำคือ Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส), Threats (อุปสรรค) SWOT คือ เทคนิคการวิเคราะห์ทางการตลาด)
จุดแข็ง Strengths
ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เราออกแบบมานี้ โดยปกติน่าจะมีจุดแข็งของตัวมันเองอยู่แล้วในเบื้องต้น เพราะถ้าเราออกแบบเหมือนของเดิมก็ไม่เกิดความแตกต่าง จากนั้นเราควรจะมองหาจุดที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมถ้าทำได้ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ในที่นี้เช่น ด้ามมีดเราอาจจะเปลี่ยนเป็นไม้ หรือช้อนเราอาจจะใช้ไม้ และใช้ก๊อกทำเป็นลูกลอย ฝาหม้อใช้ไม้เป็นวัสดุในการทำเป็นฝา
จุดอ่อน Weaknesses
ในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ หลังจากที่ออกแบบมาแล้วให้มองหาจุดอ่อนของตัวเองให้พบให้ได้ว่ามันคืออะไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่เช่นงานนี้ วัสดุที่ใช้เป็นพลาสติก มีอายุการใช้งานที่สั้น หรือสปริงที่ใช้มีอายุที่ยาวเพียงพอหรือไม่ เราต้องประเมินให้รู้อายุการใช้งานคร่าวๆของสินค้าให้ได้ เพื่อวางแผนทำชิ้นส่วนทดแทน หรือวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ให้เข้ามาทดแทนในระยะเวลาก่อนที่ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าปัจจุบันจะหมดอายุหรือใช้การไม่ได้ หรือเราอาจจะเลือกใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติเช่นไม้ไผ้ทดแทนไปเลยก็ได้ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่พบ
โอกาส Opportunities
มองหาจุดที่สร้างโอกาสแก่กลุ่มผู้ผลิตเช่น การสร้างรายได้จากการจ้างงาน จากการผลิตวัสดุจากธรรมชาติ การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือสินค้าและอื่นๆ จากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เราออกแบบมานี้ ก็จะเกิดการสร้างงานให้แก่กลุ่มคนจำนวนมากถ้าเรารู้จักการกระจายงานออกไป
อุปสรรค Threats
อุปสรรคนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องเจออย่างแน่นอน แต่ต้องมองหาให้เจอ แล้วต้องข้ามไปให้ได้ จากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ออกแบบมานี้ สิ่งที่ต้องระวังที่สุดอย่างแรกคือความโลภ เพราะถ้าโลภแล้วอย่างอื่นก็จะเดินต่อไปยากมาก เช่น ถ้าออกแบบมาเพื่อหวังผลทางการค้าก่อนเป็นอันดับแรก ก็จะทำให้สินค้าเกิดการตั้งราคาที่สูงจะทำให้ขายยากเพราะจะทำให้สินค้าอาจจะจับต้องไม่ได้ หาผู้ซื้อได้ยาก ไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
การวิเคราะห์ตำแหน่งในการทำตลาด
STP คือ กลยุทธ์ในการเลือกกลุ่มเป้าหมาย ย่อมาจาก Segmentation การแบ่งส่วนการตลาด, Targeting กลุ่มเป้าหมายที่ได้จากการแบ่งกลุ่ม, และ Positioning การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า
การแบ่งส่วนการตลาด Segmentation
ส่วนแบ่งทางการตลาด เป็นการมองตลาดโดยรวมว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดนั้นๆ จากตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัว ที่ใช้สำหรับคนสูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตานั้นปัจจุบันยังเป็นตลาดใหญ่พอสมควรและเป็นที่น่าสนใจเพราะมีผู้ที่ทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้านี้ยังมีน้อยมาก มีโอกาสในส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้นมีประชากรที่สูงอายุมากขึ้นจึงเป็นโอกาสในการสร้างตลาดอย่างยิ่ง โดยจะต้องหาปริมาณให้ได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จะได้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีขนาดเพียงใดเพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดได้
กลุ่มเป้าหมายที่ได้จากการแบ่งกลุ่ม Targeting
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจจะเริ่มต้นตั้งเป้าไว้ที่ 20% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมาย โดยจะต้องไปศึกษาว่าปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด โดยธรรมชาติกลุ่มเป้าหมายจะอยู่ที่ใด มีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร วิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจะต้องทำอย่างไร อะไรคือแรงจูงใจในการบริโภค และอื่นๆ จากตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัว ที่ใช้สำหรับคนสูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตา ให้หาปริมาณของคนสูงอายุโดยกำหนดว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีปริมาณเท่าใด ผู้มีปัญหาทางสายตาอาจจะไม่ต้องกำหนดอายุมีปริมาณเท่าใด เพื่อจะได้วางแผนทางการตลาดต่อไป
โดยธรรมชาติกลุ่มเป้าหมายจะอยู่ที่ใด
กลุ่มเป้าหมายทางตรงได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาทางสายตา ซึ่งมักจะอยู่ที่บ้าน สวนสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะมีอำนาจในการซื้อโดยตรงหรือสามารถชี้นำให้เกิดการซื้อได้มากกว่า 70%
กลุ่มเป้าหมายทางอ้อม ซึ่งได้แก่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ของ ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาทางสายตา ซึ่งอาจจะอยู่ร่วมกัน รู้จักกัน มีความสนิทสนม มีความปรารถนาดีกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถแนะนำให้เกิดการซื้อได้เป็นกลุ่มที่สามารถชี้นำให้เกิดการซื้อหรือเป็นผู้ซื้อ หรือผู้จัดหาได้มากกว่า 30%
พฤติกรรมการบริโภคอย่างไร
กลุ่มเป้าหมายที่เป็น ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาทางสายตา เราอาจจะแบ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งสามารถตัดสินใจในการซื้อได้โดยตรง ผู้ซื้ออาจจะตัดสินใจจากการจูงใจให้เห็นประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก หรืออาจจะมีผู้แนะนำให้มาใช้ หรือได้ทดลองใช้งานจากของจริง เราอาจจะนำเสนอโดยตรงโดยผ่านเครื่องมือในการทำตลาดต่างๆ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ อาจจะใช้วิธีการหาผู้ซื้อไปบริจาคให้โดยตรง จัดตั้งกองทุน
วิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจะต้องทำอย่างไร
อาจจะใช้เครื่องมือทางการตลาดต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัว ที่ใช้สำหรับคนสูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตา โดยอาจจะทำเป็น VDO สั้นๆสอนการทำอาหารโดยใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัวที่ออกแบบมาเป็นหลัก แล้วค่อยแทรกถึงประโยชน์ว่าเป็นอย่างไร สามารถจะหาซื้อได้จากที่ไหนโดยไม่ใช้วิธีการขายตรงๆ อาจจะเสนอมุมมองของสินค้าเพื่อคนที่คุณรักและห่วงใย หรือไปจัดทำกลุ่มสอนทำอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตามสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียนและสถานที่ที่มีผู้สูงอายุไปใช้บริการ หรือทำใบโฆษณาติดประกาศตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือส่งผ่านสื่อโซเชียล โฆษณาผ่านสื่อโซเชียล โดยต้องสื่อถึงคุณค่า ความแตกต่างและความห่วงใยในการออกแบบของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า Positioning
การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ เพราะก่อนที่เราจะกำหนดการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีต้นทุนของสินค้าอยู่ที่เท่าไหร่ ควรจะตั้งราคาขายอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วเราค่อยวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ โดยปกติสินค้าประเภทนี้จะสามารถวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าไว้ในตำแหน่งระดับกลางถึงสูงได้ แต่สินค้าจะต้องดูดี มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามแต่ไม่ควรลงทุนสูง ราคาโดยรวมต้องจับต้องได้ เราอาจจะสร้างการรับรู้ในด้านแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ว่ามีแหล่งที่มาจากที่ใดรายได้จากการขายใครได้ ผลดีของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจะได้กับใครบ้าง
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Development
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นนี้จะเป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายก่อนผลิตจริงในเชิงอุตสาหกรรม จะเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานเป็นหลักใหญ่ ที่เหลือก็อาจจะเป็นเรื่องขั้นตอนในการผลิต ต้นทุนในการผลิต บรรจุภัณฑ์ การจัดส่ง การวางจำหน่าย ไปจนถึงราคาขายไปถึงผู้ใช้งาน
การทดสอบทางการตลาด Test Marketing
การทดสอบทางการตลาด เป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขั้นสุดท้ายแล้ว นำไปให้คนสูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตาได้ทดลองใช้งานจริง โดยอาจจะมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้ หาทำเลที่จะจัดจำหน่าย ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่คาดหวัง กำหนดช่วงเวลาในการทำตลาด เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆโดยมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจน เพื่อหาจุดเด่น จุดด้อย ในการปรับปรุงก่อนการวางตลาดจริง ในขั้นตอนนี้จะต้องนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนอย่างละเอียด เพื่อให้การวางแผนการตลาดเป็นไปอย่างเหมาะสม รวมไปถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดต่างๆ โดยจะขอย้ำเลยว่าการตลาดคือเครื่องมือที่ใช้ในการนำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นๆไปสู่กลุ่มเป้าหมาย
การต่อยอดเชิงพาณิชย์ Commercialisation
การต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นขั้นตอนในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จริง โดยการนำเอาผลของ SWOT ที่มาวิเคราะห์ ข้อดี ข้อเสีย หรือจุดอ่อน จุดแข็ง รวมไปถึงโอกาส และอุปสรรค มาพิจารณาปรับปรุงวางแผนการตลาด กลยุทธ์ในการทำตลาด ในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จริง หลังจากนั้นต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ว่าเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัว ที่ใช้สำหรับคนสูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตา
จุดแข็ง บริเวณคมมีดมีแผ่นปิดป้องกันมีดบาดในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาน ฝาหม้อมีมือจับที่ค่อนข้างสูงจับสะดวก มีรูระบายไอน้ำร้อนไปในทิศทางตรงกันข้าม
จุดอ่อน วัสดุที่ใช้เป็นพลาสสติก อาจมีผลเรื่องอายุการใช้งาน และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โอกาส ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการทางสายตาปลอดภัยมากขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุ เกิดการกระจายรายได้ เกิดการสร้าง Brand
อุปสรรค ความโลภของผู้คิดค้นหรือผู้จำหน่าย ถ้ามีการตั้งราคาในการจำหน่ายในราคาที่สูงมากกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถจับต้องได้ ก็จะไม่เกิดการซื้อ และจะไม่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างที่คาดหวังได้
กลยุทธ์ในการทำตลาด
อาจจะเริ่มจากการนำเสนอวิธีการทำอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ อาจจะผ่านทาง Youtube โดยใช้ผลิตภัณฑ์จริงที่เราออกแบบในการทำอาหาร เพื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติก่อนและอาจจะบอกที่มาของผลิตภัณฑ์ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครได้รับประโยชน์บ้างแล้วค่อยบอกว่าสามารถหาซื้อได้ที่ไหน หรือซื้อได้โดยวิธีการอย่างไร จากนั้นอาจจะไปทำกิจกรรมตามโรงพยาบาล โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ตามตลาดต่างๆ หรือตามที่ที่กำหนดไว้
การทบทวนความสามารถของตลาด Review of Marketing Performance
การทบทวนความสามารถของตลาด หลังจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้วซักระยะเวลาหนึ่งเราควรจะมีข้อมูลของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ว่าเป็นมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์อย่างไร เราควรจะนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาทำการพิจารณาเพื่อไว้ใช้ในการปรับปรุงในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการในการทำตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดยอดการจำหน่ายที่ดีขึ้นต่อไป
จะเห็นได้ว่าการทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าขึ้นมาซักชิ้นเพื่อจะขายไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีการสร้างเรื่องราว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเรามีความตั้งใจ ความใส่ใจและพยายามในการทำสิ่งนั้นๆ ขออย่างเดียวอย่าเลิกล้มความตั้งใจ ถ้าเรายังไม่หยุดเราก็ยังไม่แพ้ อย่างที่อาจารย์ผมสอนผมว่า “การทำธุรกิจคือ การแก้ปัญหาให้กับคนอื่น โดยการสร้างคุณค่าขึ้นมาใหม่ แต่การตลาดคือ การนำเอาเครื่องมือมาใช้ส่งต่อคุณค่าของสินค้าสู่กลุ่มเป้าหมายนั้น”
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะครับ และหวังว่าวันหนึ่ง ถ้าบอกว่าเนื้อวัวโคขุนโพนยางคำ ทุกคนจะรู้จักทันที เหมือนกันเนื้อวัวโกเบ เวลาถามกับใครเค้าก็จะรู้ทันทีว่าเป็นวัวที่ถูกเลี้ยงอย่างดีให้กินเบียร์กับอาหารอย่างดี มีเพลงให้วัวฟัง ปล่อยให้เดินตามสบาย พอเอามากินจะได้เนื้อที่มีไขมันแทรกอยู่เวลาทานจะนุ่มละลายในปากทันทีที่กินเข้าไป แต่เราไม่เคยรู้ว่าเนื้อวัวโคขุนโพนยางคำเค้ามีวิธีการเลี้ยงอย่างไรมาก่อนเลย อยากให้ของคนไทยเป็นที่รู้จักแบบเดียวกันนี้คือแค่พูดชื่อก็นึกออกทันทีเป็นในระดับโลกยิ่งดี สุดท้ายนี้ถ้ามีโอกาสจะทำเป็น VDO ให้ดูกันง่ายๆนะครับ อย่างเคยครับติดประเด็นไหนก็แจ้งมาได้ แล้วจะรีบตอบ หรือรีบแก้ไขให้ตามที่ขอมาแล้วพบกันใหม่นะ