จากครั้งที่แล้ว พอดีได้ไปพบงานเขียนดีๆชิ้นหนึ่งของ web : nicetofit(link งานเขียนฉบับเต็มอยู่ข้างล่างนะ) ซึ่งตรงกับสิ่งที่จะนำมาใช้ในการอธิบายการคิดเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ ก็เลยนำเอาบางช่วงบางตอนของงานเขียนและปรับรูปแบบเพื่อทำให้เรารู้ที่มาหรือแหล่งกำเนิดของนวัตกรรม จากตอนที่แล้วเราพูดถึงการแบ่งประเภทของนวัตกรรมแล้วเราก็จะมาดูกันต่อว่า ก่อนที่จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมนั้น ควรจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง หรือถ้าเราจะออกแบบสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมซักชิ้นหนึ่งนั้นมันจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ซึ่งตามประสบการณ์ที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องยากถ้าอยู่ดีๆจะให้คิดสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมกันเลย ในสมัยที่ยังเรียนอยู่มักจะเจอกับคำถามหรือคำสั่งว่า “ให้ไปคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆมาให้เวลาเท่านั้นเท่านี้” ถามว่ายากมั้ย ยิ่งถ้าเราไม่มีพื้นฐานในการคิดหรือไม่รู้จักเครื่องมือในการคิดก็ถือว่า เหมือนคนตาบอดคลำทางกันเลยที่เดียว ดังนั้นจะขอเริ่มกันเลย (ขอบอกก่อนว่านี่เป็นข้อมูลที่ไปเจอแล้วมันตรงกับสิ่งที่ต้องการอธิบายและถูกใจเป็นส่วนตัว ที่สำคัญคือคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยากให้เพื่อนๆได้รับข้อมูลที่ดีๆ และบวกกับประสบการณ์ส่วนตัวที่อยากจะแบ่งปันกันและก็เหมือนเดิม หากใครมีข้อแนะนำแจ้งเข้ามานะ)
ในการทำอะไร เรามักจะได้รับคำสอนจากผู้ใหญ่ หรือพ่อ-แม่ ว่า “ ทำอะไร ให้คิดก่อนทำเสมอ“ แต่ในความเป็นจริงเราก็จะบอกว่า ฉันก็คิดแล้วทำทุกครั้งนะ ซึ่งในทางศาสนาพุทธเราจก็ะสอนคล้ายๆกันแต่ต่างกันเล็กน้อยคือ “ ทำอะไร ให้คิด แล้วพิจารณาในสิ่งที่คิด แล้วค่อยทำ“ ซึ่งเป็นเรื่องจริงนะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิด และพิจารณาในสิ่งที่คิดด้วยอะไร? ระหว่าง “สติ หรือ อารมณ์“ ซึ่งผลลัพท์ที่ได้ก็จะไม่เหมือนกันนะ เพื่อนๆว่าจริงมั้ย แต่ในที่นี้จะพูดถึงสติเป็นหลักนะ ยังไม่เอาอารมณ์มาใช้ ในการใช้ความคิดก็จะมีเป็นบางส่วนที่ต้องนำอารมณ์มาใช้ ซึ่งเราจะนำอารมณ์มาใช้นะแต่เราจะใช้หลังจากนี้อีกที ขอย้ำนะ ตอนนี้ต้องใช้สติ
เราจะพบว่าการคิดอะไรก็ตามจะมีปัจจัยอยู่สามส่วนใหญ่ๆด้วยกันคือ
- ส่วนแรกคือ การตั้งคำถามที่ดี และถูกต้อง
- ส่วนที่สองคือ การคิดหรือการมองถึงปัญหาที่เกิด (ปัญหาจากการตั้งคำถาม)
- ส่วนที่สามคือ หาหนทางในการแก้ของปัญหานั้นๆ
เรามาเริ่มดูกันเลยดีกว่า ว่าแต่ละข้อน่าจะเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เริ่มกันเลย
1. การตั้งคำถามที่ดี และถูกต้อง
ในแต่ละวัน แต่ละคนอาจพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น จนเกิดความสงสัยและมีการตั้งคำถามขึ้นในใจ เช่น น่าจะมีแบบนี้ท่าจะดี? มีคำถามทำไมมันไม่เป็นแบบนั้น? บางคนอาจจะคิดไกลหรือจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดความสงสัยและถามขึ้นมาเรื่อยๆแต่ยังไม่คิดจะหาคำตอบ โดยบางครั้งเป็นคำถามที่คิดขึ้นมาชั่ววูบ ซึ่งอาจจะเป็นความต้องการที่อยากได้แต่ไม่สามารถที่จะบอกออกมาเป็นคำพูดได้ในขณะนั้นๆ หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า unmet needs ซึ่งมักจะเกิดขึ้นมาแล้วนักประดิษฐ์ก็จะนำความคิดเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ จนอาจจะพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้
การตั้งคำถาม
คำถามที่ดี จะต้องมีความทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ เป็นคำถามที่จะยกระดับความคิดของเรา หรือเปลี่ยนมุมมองของเรา และมันจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
การถามปัญหา คือส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา การถามคำถาม ทำไม? ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ การถามคำถามเป็นสิ่งที่พบยากในการทำธุรกิจ เพราะหลังจากที่ผ่านจุดเริ่มต้นไป บริษัทก็มักจะมองว่า คำถามเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อระเบียบ องค์กรสามารถกระตุ้นให้พนักงานถามมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถาม ถามสิ่งที่ควรถาม
เมื่อเราเจอปัญหา เราจะหาทางแก้ไข แต่วิธีที่เราเลือกใช้มันอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป เรามักจะหาทางแก้ไขปัญหาจากข้อมูลหรือประสบการณ์ที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ถ้ามันเป็นปัญหาใหม่ เป็นสิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนล่ะ?
ดังนั้นการตั้งคำถามที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด ดังคำกล่าวของนักคิดหลายๆท่านได้เคยพูดไว้
“If I had an hour to solve a problem I’d spend 55 minutes thinking about the problem and 5 minutes thinking about solutions.”–Albert Einstein
อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า ถ้ามีเวลาให้ 1 ชั่วโมงเพื่อให้แก้ปัญหา และถ้ามันเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของเค้า เค้าก็จะใช้เวลา 55 นาทีแรก สำหรับถามเพื่อให้มั่นใจว่าเค้ากำลังแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเวลา เสียทรัพยากรไปกับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด
Steve Jobs พูดไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1995 ว่าเค้าให้ความสำคัญของการตั้งคำถาม ตลอดเวลาหลายปีที่ทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่เค้าพบก็คือ เค้าจะถาม ทำไม? ตลอดเวลา ทำไมเราถึงทำแบบนี้? แล้วเค้าก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า นี่เป็นวิธีที่เราทำกันมา สิ่งที่ Steve Jobs พบก็คือ ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ไม่มีใครที่จะคิดในเชิงลึกเกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำ
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าแม้แต่นักคิดระดับโลก ก็ยังให้ความสำคัญในการตั้งคำถามอย่างมากเพราะ การตั้งคำถามที่ดีจะทำให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า การตั้งคำถามแบบขอไปที
2. การคิดหรือการมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะตั้งคำถาม (ปัญหาที่ได้จากการตั้งคำถาม)
ในการคิดหรือการมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการเริ่มต้นที่จะคิดในทุกมิติ แต่ในการตั้งคำถามเราควรจะต้องลองตั้งคำถามดูว่า มีปัญหาที่อะไร ปัญหาเกิดจากอะไร สาเหตุของปัญหามาจากไหน ใครเป็นสาเหตุหลัก มีผลกระทบอะไรบ้าง มีความเสียหายระดับไหน ในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว จะเกิดอะไรขึ้น จะป้องกันได้หรือไม่ ต้องทำอย่างจึงจะจัดการกับปัญหาได้ และอื่นๆอีกมากมาย ที่จะคิดได้และปรับให้กลายเป็นคำถาม
จากที่ยกตัวอย่างคำถามมานี้ก็เป็นเพียงบางส่วนซึ่งก็จะต้องดูถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าเราได้ฝึกคิดและลงมือทำเป็นประจำเราก็จะเกิดความชำนาญขึ้นมาเอง ซึ่งเมื่อได้คำถามที่ถูกต้องหรือเหมาะสมแล้ว เราก็จะตอบคำถามจากแต่ละหัวข้อที่ตั้งขึ้นมาได้ แล้วเราอาจจะพบคำตอบจากคำถามที่เราตั้งขึ้นมาได้เลย หรืออาจจะมองหาแนวทางในการแก้ปัญหาของคำถามนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจากตัวอย่างนักคิดระดับโลกอย่าง ไอน์สไตน์เองก็มีวิธีคิดที่น่าสนใจ
I have no special talent. I am only passionately curious. –Albert Einstein
อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “ฉันไม่ได้มีพรสวรรค์ใดๆ เพียงแต่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ” ดังนั้นเราควรจะหัดลืมของเก่าดูบ้าง แล้วลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆดูบ้าง มันจะทำให้เราค้นพบคำตอบหรือทางแก้ที่เราค้นหาอยู่ได้ การฝึกฝนตนเองให้รู้จักสงสัย พัฒนาและไม่หยุดที่จะสงสัย ความสงสัยจะนำไปสู่การค้นพบ หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้
การตั้งคำถามคือ การจัดระเบียบความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้ เรียบเรียงออกมาเป็นประโยคเพื่อให้เกิดเป็นคำถามและเพื่อให้ได้มาเป็นคำตอบ ซึ่งมันถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
มันยากที่จะค้นพบหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าเราเลือกใช้สิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว บุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น Steve Jobs หรือ Einstein ไม่มองหาคำตอบ แต่จะตั้งคำถามแทน ถามว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้?
คำถามที่ดีมันจะทำให้เกิดคำถามชุดอื่นๆ ตามมา และมันจะเปลี่ยนแนวคิดของเรา ส่วนคำตอบ มันจะทำให้ขั้นตอนทุกอย่างจบลง
ในหนังสือ A More Beautiful Question: The Power of Inquiry to Spark Breakthrough Ideas ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนที่ทำงานด้าน Creative มากกว่า 100 คน เค้าพบว่าคำถามเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงาน
Why? การถาม ทำไม? จะทำให้เราไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้เราปฏิเสธสิ่งที่มันเป็นอยู่ ทำให้เราไม่ทนอยู่กับสภาพเดิม แต่เปิดกว้างให้กับวิธีหรือแนวทางใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้น
What if? การถาม สมมติว่า? ช่วยให้เราคิดหาไอเดียใหม่ๆ ถึงมันจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ แต่มันจะทำให้หลุดจากกรอบเดิมๆ ทำให้เราผสมผสานไอเดียหลายอย่างเข้าด้วยกัน
ความสงสัยที่หายไป(อันนี้ชอบมาก)
ตอนเด็กๆ ความอยากรู้ของเรามีมากจนทำให้เราต้องถามแล้วถามอีก แต่เมื่อเราเข้าโรงเรียน เราก็เริ่มหยุดถาม งานวิจัยพบว่า การเรียนในโรงเรียน ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ความตั้งใจลดน้อยลง ทำให้เด็กนักเรียนสนใจเรียนน้อยลง เด็กๆ ในชั้นประถมจะตั้งใจและสนใจเรียนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในชั้นมัธยมเด็กกว่าครึ่งหนึ่งก็หมดความสนใจในการเรียน การให้ความสำคัญกับการทดสอบมาตรฐานมากจนเกินไป ทำให้เด็กขาดประสบการณ์การเรียนรู้ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานวิจัยในต่างประเทศ แต่เราก็พอจะเห็นความเชื่อมโยงและความคล้ายกันในบ้านเรา ความสนใจในการเรียน อาจจะเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถาม ยิ่งเวลาผ่านไป เด็กในชั้นมัธยมจะถามน้อยลง แต่จะสนใจและให้ความสำคัญกับการทดสอบ การท่องจำบทเรียน และการจำคำตอบที่ถูกต้อง ทำให้เด็กๆ ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการจำข้อมูล จำบทเรียนที่ครูสอน ท่องหนังสือเพื่อเอาไปสอบ การจำได้ดีมีผลต่อเกรด แต่เสียดายที่มันก็ทำให้เราทิ้งความสงสัยและหยุดตั้งคำถาม เราจำเป็นต้องตั้งคำถามและถามให้มากขึ้น คำถามที่ดีทำให้เราค้นพบโอกาสในชีวิต และความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง สิ่งที่เราสามารถทำและสิ่งที่เราต้องการในอนาคต
ถ้าให้ความสำคัญกับมาตรฐาน การทดสอบ หรือประสิทธิภาพ มากจนเกินไป มันก็จะเหลือที่ว่างให้กับการเรียนรู้ในเชิงลึก ความรู้ที่มันมากกว่าบทเรียนที่ท่องจำไปสอบ แนวคิดที่มันสูงขึ้นไปอีกระดับ
3. ส่วนที่สามคือ หาหนทางในการแก้ของปัญหานั้นๆ
หลังจากที่เราคิดคำถามออกมาได้แล้ว ก็จะมาสู่ขั้นตอนของการหาคำตอบ เนื่องจากในแต่ละคำถามที่เราบรรจงตั้งคำถามขึ้นมาจากการคิดและวิเคราะห์อย่างดีของเรา (ในครั้งแรกๆอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่พอเราได้ฝึกคิดไปเรื่อยๆก็จะเกิดความชำนาญขึ้นมาเอง) ซึ่งเมื่อเราดูแต่ละคำถามแล้วหาคำตอบมาตอบในแต่ละคำถาม จนสามารถสรุปออกมาเป็นวิธีการในการแก้ปัญหา ซึ่งในการแก้ปัญหา อาจจะต้องมีวิธีในการแก้ปัญหาโดยทำทีเดียวสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด(นั่นต้องระดับมืออาชีพ) หรืออาจจะต้องมีหลายขั้นตอน หลากหลายวิธีการก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนก็จะสามารถทำได้แน่นอน ต่อไปเป็นเครื่องมือของหัวข้อนี้
How? การถาม ทำยังไง หรือทำอย่างไร? เกิดขึ้นในขั้นตอนการเริ่มต้นแก้ไขปัญหา คำถามนี้จะช่วยให้หาวิธีแก้ไขปัญหา ทำให้เราลงมือทำ
ในการแก้ปัญหานั้น เราอาจจะสงสัยว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร หรือตรงไหนดี ถ้าเป็นยุคในอดีตนั้นอาจจะยากหน่อยแต่ในยุคปัจจุบันนั้นค่อนข้างง่ายขึ้น(เพราะเราสามารถหาข้อมูลได้จาก internet) ก็คือหลังจากที่เราได้แนวทางเบื้องต้นแล้วเราก็จะทำการสำรวจดูว่าในปัจจุบันนั้นคนอื่นๆ เค้าแก้ปัญหาที่เราตั้งขึ้นมาอย่างไรได้ มีกี่วิธีการแล้วเหมาะสมกับงานของเราที่กำลังแก้ปัญหาอยู่หรือไม่ ถ้าเราจะคิดนอกกรอบก็จะเริ่มจากตรงนี้แหละว่าจะคิดอย่างไรให้แตกต่าง ซึ่งมันก็จะกลายร่างเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ได้ในเบื้องต้น และถ้าเราสามารถขายความคิดแล้วมีผู้อื่นสนใจอยากซื้อหรือต้องการมันก็จะกระโดดข้ามไปเป็นนวัตกรรมเลยทีเดียว แต่ก็ต้องเข้าใจนะครับว่า ระหว่างการคิดต่อยอดจากของเดิมที่มีกับการคิดของใหม่ๆเลยนั้น มันมีเส้นบางๆกั้นอยู่เพื่อระบุว่าความคิดนั้นๆเป็นสิ่งประดิษฐ์ (ซึ่งคิดขึ้นมาใช้งานได้หรือไม่ได้จริงก็ตามแต่เก็บไว้อยู่บนหิ้ง) กับนวัตกรรม (เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สามารถใช้งานได้จริงและผู้อื่นสนใจนำไปใช้งานจริงด้วย)
หลังจากได้แนวคิดในการแก้ปัญหาออกมาแล้ว ก็จะต้องมาสำรวจดูว่าวิธีไหนเหมาะสมที่สุดและสามารถแก้ปัญหาที่คิดขึ้นมาแล้วตอบโจทย์ได้ครอบคลุมมากที่สุด การลงทุน, เวลาและคนในการทำน้อยหรือเหมาะสมที่สุด สุดท้ายคือสามารถทำขึ้นมาจริงๆได้ด้วย
ทำยังไง หรือทำอย่างไร? คำถามที่ยากที่สุด
การถาม ทำไม?
ในขั้นตอนที่ 1 เป็นวิธีที่ทำให้เราชี้แจงปัญหา แต่เราจะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ เพราะเราต้องการคำตอบ เราต้องการวิธีแก้ปัญหา
ขั้นตอนที่ 2 เราเริ่มที่จะถาม สมมติว่า? แต่มันก็ยังไม่พอ การถาม สมมติว่า? จะทำให้จุดประกายความคิด เราจะเห็นไอเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่เราก็ต้องการไอเดียที่มันเกิดขึ้นได้จริง
ขั้นตอนที่ 3 การถาม ทำยังไง? เป็นการนำความคิดมาลงมือทำ เป็นคำถามที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับความอดทนพยายามและความมุ่งมั่น
คำถามในขั้นตอนสุดท้ายนี้ เป็นคำถามเชิงปฏิบัติ ใช้ถามเมื่อเราต้องเจาะลึกลงไป เราจะต้องหาทางทำให้มันเกิดขึ้นจริง โดยการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ หรือการแก้ไขปัญหาที่ทำได้จริงๆ
การสร้างวัฒนธรรมของการถาม
ในสังคมที่เราให้ความสำคัญกับผลงาน มากกว่าการตั้งคำถาม ทำให้เราให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญมากกว่าความไม่แน่นอน
แต่ในปัจจุบัน ความรู้หลายๆ อย่าง มันค่อยๆ ลดทอนคุณค่าในตัวลงไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้หลายๆ อย่างเก่า ล้าสมัยและใช้งานไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เรารู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้
ในยุคที่เรามี Google และ Wikipedia เราไม่จำเป็นต้องจดจำข้อมูลหรือเก็บสะสมความรู้ เพราะเราสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านั้นได้เพียงแค่ไม่กี่คลิก
เริ่มต้นที่ผู้นำ ต้องยอมรับความท้าทายและความไม่แน่นอน ผู้นำแบบเก่าคือคนที่นิยมความรู้ แต่ผู้นำแบบใหม่จะพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน พนักงานควรจะสามารถถามได้โดยไม่ต้องกลัว ตรงกันข้ามพนักงานควรจะได้รับรางวัลจากการถาม โดยเฉพาะคำถามที่ต้องการคนรับผิดชอบและหาทางลงมือแก้ไข
คำถามแย่ๆ ที่ไม่ควรถาม
หลีกเลี่ยงคำถามที่สงสัยคนอื่น คำถามที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คำถามที่ทำให้คนอื่นหมดกำลังใจ หรือทำให้เสียความมั่นใจ คำถามที่ใช้เบียดเบียนรังแกคนอื่นๆ หรือคำถามที่แค่ต้องการวิจารณ์ความเห็นของคนอื่นๆ เช่น
• ทำไมต้องเปลี่ยนในเมื่อมันยังใช้งานได้ดีอยู่?
• วิธีนี้เราลองแล้วไม่ใช่หรอ?
• ไม่ลองใช้วิธีนี้แทน?
การตั้งคำถาม นำเราไปสู่ชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย
คำถามที่ดีไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราค้นพบจุดมุ่งหมายและเติมเต็มชีวิตด้วยเหตุผลของการตื่นมาในทุกๆ เช้า ทำให้เราค้นพบ ikigai (คลิกที่คำจะ link ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ
ลองเปรียบเทียบอาชีพการงานของเราเหมือนการปีนเขา ระหว่างที่เราปีนขึ้นเขาและหวังว่าจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดก่อนคนอื่นๆ มันจะทำให้เราลืมเหตุผลของการปีนเขาตั้งแต่แรก
ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการทนลำบากเหน็ดเหนื่อยปีนขึ้นเขา เพียงแค่จะพบว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการที่จะไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุด
เมื่อเรารู้ตัวว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง เราจะถามตัวเองว่า สมมติว่าเราเปลี่ยนทางเดิน? และตามด้วยคำถาม แล้วเราจะเริ่มยังไง?
สรุป
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ เราสามารถตั้งคำถามได้ การตั้งคำถามทำให้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ แต่ควรใช้สติในการคิด และ “ ทำอะไร ให้คิด แล้วพิจารณาในสิ่งที่คิด แล้วค่อยทำ“ เมื่อเราคิดจะเริ่มตั้งคำถาม ควรจะมีสติก่อนที่จะเริ่ม เมื่อตั้งคำถาม มันจะทำให้เรารู้ว่า นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ และหลังจากนั้นก็หาความรู้เพื่อปิดช่องว่างของความรู้นั้น
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งที่เราต้องการที่สุดในชีวิตนี้ คือการตั้งคำถาม คำถามที่ดีจะช่วยให้เราแจกแจงปัญหา ค้นหาคำตอบ หาทางออกหรือเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นนวัตกรรม
References
https://www.nicetofit.com/การตั้งคำถามที่ดี/
อันนี้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่สามารถนำมาใช้ในการคิดต่างๆได้ แต่ยังมีเครื่องมืออีกมากมายซึ่งสามารถนำมาใช้ในการคิดเราจะนำมาเสนอในตอนต่อๆไปนะ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก nicetofit